Samadhi 2 – การถอดเสียงวิดีโอ

มันไม่ใช่อย่างที่คุณคิด

คุรุทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ของโลก
ตราบโบราณถึงปัจจุบัน
ต่างเห็นตรงกันว่า ความจริงแท้แห่งการดำรงอยู่
ไม่ได้เป็นสมบัติเฉพาะ
ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
หรือวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณ
แต่สามารถค้นพบได้ ภายในหัวใจของทุกๆ คน
กวีรูมิ กล่าวว่า
” หากพระจันทร์ไม่เคยขึ้นและตกฉันใด
จิตวิญญาณก็ไม่เคยห่างหายไปจากเราเช่นกัน
อย่าได้กล่าวว่ามันอยู่ที่นี่หรือที่นั่น
ทุกสรรพสิ่งสร้างคือสิ่งนั้น
ผู้ที่มีตาภายใน ย่อมมองเห็น “
ในเรื่องหอคอยบาเบิล
มนุษยชาติได้ถูกแบ่งแยกให้ต่างภาษา
ต่างความเชื่อ วัฒนธรรม และความสนใจ
บาเบล แปลตามตัวอักษรหมายถึง “ประตูของพระเจ้า”
ประตูนั้นก็คือ จิตนึกคิดของเรา
คือโครงสร้างของความคิดเราที่สร้างขึ้น
สำหรับผู้ที่ตระหนักถึงธรรมชาติที่แท้จริงของตน
แก่นแท้ของเขาจะอยู่พ้นไปจากชื่อและรูปลักษณ์ต่างๆ
เขาย่างก้าวไปสู่ความลึกลับที่ยิ่งใหญ่
ที่อยู่ข้ามพ้นประตูนั้นไป
ในอุปมาโบราณ อุปมาเรื่องช้าง
ซึ่งถูกเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า
แท้จริงแล้ว ความเชื่อที่แตกต่างนั้น
ล้วนชี้ไปสู่ความจริงแท้ที่ยิ่งใหญ่เดียวกัน
คนตาบอดกลุ่มนึง ต่างพากันสัมผัสส่วนต่างๆ ของช้าง
แล้วเกิดความรู้สึกที่ต่างกันไปว่า ช้างคืออะไร
คนที่ยืนอยู่ที่ขาช้าง อธิบายว่า “ช้างเหมือนต้นไม้”
คนที่อยู่ตรงหาง ก็บอกว่า “ช้างเหมือนเชือก”
“ช้างเหมือนหอก” คนที่ยืนตรงงาบอก
คนที่สัมผัสหูช้าง ก็บอกว่า “ช้างเหมือนพัด”
คนที่สัมผัสข้างตัวช้าง ยืนกรานว่า “ช้างเหมือนกำแพง”
ปัญหาก็คือ เราสัมผัสเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของช้าง
แล้วก็เชื่อประสบการณ์ของเรา
เป็นความจริงหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง
โดยเราไม่ได้รับรู้ หรือยอมรับในประสบการณ์ของคนอื่น
ซึ่งเป็นหลากหลายแง่มุมแห่งความจริงของสัตว์ตัวเดียวกัน
“ปรัชญาอมตะ” คือการทำความเข้าใจว่า
ทุกอารยธรรมทางจิตวิญญาณ และทุกศาสนา
ล้วนนำไปสู่ความจริงหนึ่งเดียวอันเป็นสากลร่วมกัน
รหัสนัย หรือ ความจริงที่ข้ามพ้นตัวตน
คือรากฐานสำคัญ ที่ทำให้ความรู้ทางจิตวิญญาณ
และคำสอนต่างๆ ได้เจริญงอกงามขึ้น
สวามี วิเวกอนันดา ได้สรุป “คำสอนอมตะ” เขากล่าวว่า
“จุดหมายของทุกศาสนา
คือการตระหนักรู้ถึงพระเจ้าในจิตวิญญาณ
นั่นคือ หนึ่่งศาสนาสากลเดียวกัน “
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราใช้คำว่า พระเจ้า
ก็เพื่ออุปมาถึง การก้าวข้ามตัวตน
ไปสู่ความลี้ลับอันยิ่งใหญ่
ที่อยู่เหนือข้อจำกัดทางความคิดของอัตตา
การตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริง หรือตัวตนภายใน
คือ การตระหนักถึงธรรมชาติแท้อันศักดิ์สิทธิ์
ทุกจิตวิญญาณมีศักยภาพ
ในการยกระดับจิตสำนึกให้สูงขี้น
เพื่อการตื่นขึ้นจากหลับใหล
และการยึดมั่นในตัวตน
นักเขียนผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์ อัลดัส ฮักซเลย์
ผู้เขียนหนังสือ “โลกใหม่ที่กล้าหาญ”
ได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า”ปรัชญาอมตะ “
เขาเขียนถึงคำสอนหนึ่ง
ซึ่งเวียนกลับมาซ้ำๆ ตลอดประวัติศาสตร์
ในวัฒนธรรมที่เกิดการตระหนักรู้ความจริงขึ้น
เขาเขียนว่า
“ปรัชญาอมตะ ได้แสดงไว้อย่างชัดเจน
ในภาษาสันสกฤต
“Tat Tvam Asi” หมายถึง
“เธอ คือ สิ่งนั้น” (You are That.)
อัตมัน (Atman) หรือตัวตนนิรันดร์
คือ หนึ่งเดียวกับพรหมมัน
เป็นหลักสูงสุดของทุกการดำรงอยู่
และเป็นจุดหมายของมนุษย์ทุกคน
คือการค้นพบความจริงเพื่อตัวเขาเอง
เพื่อค้นพบความจริงแท้ที่เขาหรือเธอเป็นจริงๆ
แต่ละอารยธรรม ก็เหมือนเหลี่ยมแต่ละด้านของอัญมณี
ที่ส่องประกายเอกลักษณ์ของความจริงเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนและส่องสว่างถึงกันและกัน
ไม่ว่าการใช้ภาษาและกรอบแนวคิดใด
ทุกๆ ศาสนา ล้วนสะท้อนถึงคำสอนอมตะ
ซึ่งระบุถึงการเชื่อมโยงเข้าสู่บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
บางสิ่งที่อยู่เหนือเรา
มันเป็นไปได้ที่จะเรียนรู้และบูรณาการคำสอนต่างๆ
จากหนึ่งหรือหลายที่มา
โดยไม่ระบุถึงความเป็นตัวตนในแต่ความเชื่อ
มีคำกล่าวว่า คำสอนทางจิตวิญญาณที่แท้จริงทั้งหมด
เป็นเพียงนิ้วที่ชี้ไปยังความจริงแห่งการก้าวข้ามตัวตน
ซึ่งหากเรายึดมั่นเพียงบางคำสอนที่เรารู้สึกสบายใจ
เราจะเกิดอุปสรรคในวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณ
เพื่อเข้าถึงความจริงที่อยู่เหนือแนวคิดใดๆ
เราต้องปล่อยวางเกาะเกี่ยวและการยึดมั่นต่างๆ
ปล่อยวางทุกแนวคิดทางศาสนา
จากมุมมองของอัตตา
นิ้วที่ชี้ชวนให้คุณเข้าสู่สมาธิ
เหมือนการนำพาคุณมุ่งสู่
หุบเหวที่ลึกสุดหยั่งถึง
นักบุญจอห์นออฟเดอะครอส กล่าวว่า
“ถ้าหากผู้ใดต้องการมั่นใจในเส้นทางที่เหยียบย่าง
จงปิดตาเสีย และย่างก้าวในความมืด”
สมาธิ เริ่มต้นด้วยการกระโจนลงสู่ความไม่รู้
ปรัชญาโบราณกล่าวว่า เพื่อให้เข้าถึงสมาธิที่แท้จริง
เขาผู้นั้นจะต้องเปลี่ยนการรับรู้
จากวัตถุที่ถูกรู้
จากทุกปรากฏการณ์ภายนอก
จากความคิดตัดสิน และความรู้สึก
มาตระหนักรู้ “จิตรู้”
มายังแหล่งกำเนิดภายใน
ใจ หรือ แก่นแท้ แห่งการดำรงอยู่
ในภาพยนตร์นี้ เมื่อเราใช้คำว่า สมาธิ
เราหมายถึงการก้าวข้ามตัวตน
ไปสู่สมาธิขั้นสูงสุด
ซึ่งเรียกว่า Nirvikalpa สมาธิ
ใน Nirvikalpa สมาธิ
เป็นการสงบระงับการกระทำของตัวตน
หยุดการแสวงหาและการกระทำทั้งหมด
เราเพียงกล่าวถึงสิ่งที่หายไปเมื่อเราเข้าใกล้
และสิ่งที่ปรากฏกลับมา เมื่อเราย้อนกลับมาจากจุดนั้น
มันไม่มีทั้ง การรับรู้ หรือ ไม่รับรู้
ไม่ใช่ “วัตถุ” หรือ “ความว่าง”
ไม่ใช่ สติรู้ตัว หรือ ไม่รู้ตัว
เป็นความจริงแท้ ยากหยั่งถึง
และไม่อาจรู้ได้ด้วยความคิด
เมื่อจิตกลับมาสู่ระดับของตัวตนอีกครั้ง
จะเกิดภาวะยากรู้ได้
คล้ายการเกิดใหม่
และทุกสิ่งกลายเป็นใหม่อีกครั้ง
เราถูกทิ้งไว้ท่ามกลางกลิ่นอายอันศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งยังคงอบอวลอยู่กับเรา
ไปตลอดเส้นทางเติบโตทางจิตวิญญาณของเรา
มีสมาธิหลายประเภทที่ถูกอธิบายไว้ในอารยธรรมโบราณ
และภาษาก็ได้สร้างความสับสนมาอย่างยาวนาน
เราใช้คำว่า สมาธิ เพื่อชี้ถึงการก้าวข้ามตัวตนเพื่อหลอมรวม
เราใช้คำจากอารยธรรมอื่นเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
สมาธิ เป็นภาษาสันสกฤตโบราณ
พบได้ในคัมภีร์พระเวท โยคะ และปรัชญาสางขยะของอินเดีย
และได้แผ่ขยายไปยังหลายวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณอื่นๆ
สมาธิ เป็นองค์ที่ 8
ในโยคะทั้ง 8 ของปตัญชลีมหาโยคี
และเป็นมรรคที่ 8
ในอริยมรรคมีองค์ 8 ของพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ใช้คำว่า “นิพพาน”
หมายถึงการสิ้นสุดของ “วนา”
หรือสิ้นสุดการทำงานของอัตตา
ปตัญชลีมหาโยคี ได้อธิบาย โยคะ หรือ สมาธิ
ว่าเป็น “chitta vritti nirodha”
ในภาษาสันสกฤตหมายถึง
“การสิ้นสุดของวังน้ำวน
หรือกลเกลียวของจิตใจ”
เป็นการปลดเปลื้องจิตรู้ให้เป็นอิสระ
จากกรงขังของตัวตน
ที่ถูกเสกสร้างขึ้นผ่านความคิด
สมาธิไม่ได้มุ่งไปสู่การสร้างหลักคิดใดๆ
เพราะการตระหนักรู้นี้
จะต้องอาศัยการละวางความคิด
ศาสนาต่างๆ ได้ใช้ถ้อยคำที่หลากหลาย
เพื่ออธิบายถึง การเชื่อมโยงอันศักดิ์สิทธิ์
ที่จริงแล้ว คำว่า ศาสนา
ก็หมายถึงสิ่งที่คล้ายคลึงกัน
ในภาษาละติน “religare” หมายถึง
การผูกโยงอีกครั้ง หรือการกลับมาเชื่อมต่อ
เป็นความหมายเดียวกับคำว่าโยคะ
หมายถึงการเชื่อมต่อ
หลอมรวมทางโลกสู่การก้าวข้ามตัวตน
ในอิสลาม ก็ได้สะท้อนผ่านความหมาย
ในภาษาอาหรับโบราณ คำว่า อิสลาม
ซึ่งหมายถึง การนอบน้อม หรือการวิงวอนต่อพระเจ้า
ซึ่งหมายถึง การถ่อมตนอย่างหมดจด
หรือการยอมศิโรราบของตัวตน
ในคริสเตียนรหัสยิก เช่น นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี
นักบุญเทเรซ่าแห่งอาวีล่า
และ นักบุญจอห์นแห่งเดอะครอส
ได้อธิบายถึงการเชื่อมโยงกับพระเจ้า
อาณาจักรของพระองค์อยู่ในตัวเรา
ในพระวรสารโธมัส พระเยซูได้กล่าวว่า
“อาณาจักรพระเจ้าไม่ได้อยู่ที่นี่หรือที่นั่น
แท้จริงแล้วอาณาจักรของพระบิดาได้สถิตย์อยู่ทั่วผืนโลก
ทว่าผู้คนกลับมองไม่เห็น
ผลงานของนักปรัชญาชาวกรีก
เช่น Plato Plotinus Parmenides และ Heraclitus
เมื่อมองผ่านมุมมองของคำสอนอมตะ
ก็ล้วนมุ่งไปสู่ภูมิปัญญาเดียวกัน
Plotinus สอนว่า ที่สุดของความพยายามของมนุษย์
คือ การนำพาจิตวิญญาณของมนุษย์
มุ่งสู่จุดสูงสุดของความสมบูรณ์แบบ
และเชื่อมโยงกับความเป็นหนึ่งเดียว
ผู้นำจิตวิญญาณชนเผ่าลาโกตา แบลค เอลก์ กล่าวว่า
“สันติสุขอันดับแรก ซึ่งที่สำคัญที่สุด
คือสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตวิญญาณมนุษย์
เมื่อเขาตระหนักถึงความสัมพันธ์ของเขา
กับความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล และพลังทั้งหมด
และเมื่อพวกเขาตระหนักรู้ว่า
ณ ใจกลางของจักรวาลเป็นที่สถิตของวิญญาณที่ยิ่งใหญ่
และใจกลางนี้ มีอยู่จริงในทุกหนแห่ง
มันอยู่ภายในเราทุกคน
บนทางสู่การตื่นรู้ หากปราศจากการเข้าถึงสมาธิ
จะเกิดเป็นสองขั้วปรากฏเสมอ
มีสองประตูบานที่คนจะสามารถผ่านเข้าไป
สองมิติ
หนึ่งไปสู่ จิตรู้อันประภัสสร
อีกหนึ่งไปสู่ ปรากฏการณ์ในโลก (ส่งจิตออกนอก)
ทางสูงขึ้น ไปสู่ ความจริงแท้
และทางไหลลง ไปสู่ มายา และปรากฏการณ์ทั้งหมด
ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น
ความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งสัมพัทธ์และความจริงแท้
สามารถสรุปได้ในคำพูดของ ศรี นิสาการาทา มหาราช
ปัญญา คือการตระหนักรู้ว่า “ฉันไม่เป็นอะไรเลย”
ความรัก คือการตระหนักรู้ว่า “ฉันเป็นทุกสิ่ง”
ระหว่างสองสิ่งนี้ ชีวิตฉัน…ดำเนินไป”
สิ่งที่เกิดจากการหลอมรวมนี้ คือ จิตสำนึกใหม่
บางสิ่งได้กำเนิดขึ้นจากการสมรส
หรือหลอมรวมกันของแต่ละด้าน
หรือการล่มสลายของทวิภาวะ
แต่กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่สิ่งๆ ใด
และมันก็ไม่เคยมีการเกิด
ดอกไม้แห่งการตระหนักรู้ได้สร้างบางสิ่งใหม่
สร้างสิ่งที่คุณอาจเรียกว่า
ตรีเอกภาวะอมตะ
พระเจ้าพระบิดา
ตัวตนสูงสุดอัน ไม่อาจรู้ได้ และไร้การเปลี่ยนแปลง
ได้ถูกหลอมรวมเข้ากับพระมารดาศักดิ์สิทธิ์
อันเป็นทุกสรรพสิ่งที่ล้วนแปรเปลี่ยน
การหลอมรวมนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับธรรมธาตุ
เป็นทั้งการดับสูญและการกำเนิดใหม่
ในคัมภีร์พระเวท การหลอมรวมอันศักดิ์สิทธิ์นี้
ได้ถูกถ่ายทอดเป็น สองพลังรากฐาน
ศิวะ และ ศักติ
ชื่อและโฉมหน้าของพระเจ้า
ล้วนเปลี่ยนไปตามประวัติศาสตร์
แต่คุณลักษณะพื้นฐานนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
สิ่งที่เกิดจากการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวนี้
คือ จิตสำนึกใหม่อันศักดิสิทธิ์
เป็นวิถีใหม่แห่งการดำรงชีวิตในโลก
พลังงานสากลที่ปราศจากใจกลาง
และไร้ข้อจำกัดใดๆ
เป็นความรักที่บริสุทธิ์
ไม่มีการได้มา หรือสูญเสียไป
เพราะมันช่างว่างเปล่าอย่างสิ้นเชิง
แต่ทว่า เต็มบริบูรณ์อย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็น สำนักรหัสยิกของเมโสโปเตเมีย
อารยธรรมทางจิตวิญญาณของบาบิโลนและอัสสิเรีย
ศาสนาของชาวอียิปต์โบราณ
นิวเบียน และเคมเมติค
วัฒนธรรมโบราณของแอฟริกา
พ่อมดหมอผี และชนพื้นเมืองทั่วโลก
นิกายรหัสยิกแห่งกรีกโบราณ
ไญยนิยม
ผู้ข้ามพ้นทวิภาวะ
ชาวพุทธ
ลิทธิเต๋า
ยิว
ลัทธิบูชาไฟ (Zoroastrians)
เชน
มุสลิม
หรือ คริสเตียน
เราจะพบความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ในการตระหนักรู้สูงสุดทางจิตวิญญาณ
อันเป็นเส้นทางเดียวกัน
เพื่อการเข้าถึงสมาธิที่แท้จริง
แท้จริงแล้วคำว่า สมาธิ
หมายถึง
การตระหนักรู้ถึงความเหมือน
หรือ ความเป็นหนึ่งเดียวในทุกสิ่ง
ซึ่งหมายถึงการหลอมรวม
การเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของตัวตนของคุณ
แต่อย่าเข้าใจผิดว่า
การมีความรู้ทางสติปัญญา
จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ในสมาธิ
มันคือความเงียบสงบ ความว่างเปล่าของคุณ
ที่หลอมรวมทุกระดับของพลวัตรแห่งชีวิต
โดยผ่านคำสอนโบราณเกี่ยวกับสมาธิ
มนุษยชาติสามารถเริ่มเข้าใจถึงที่มาเดียวกัน
ของทุกศาสนา และสามารถผสานรวมกันอีกครั้ง
ไปกับเกลียวพลวัตรของชีวิต
พระวิญญาณ ธรรมะ หรือเต๋า
เกลียวพลวัตรนี้ คือ สะพานที่ทอดตัวยาว
จากจักรวาลภายใน ไปสู่จักรวาลภายนอก
จากดีเอ็นเอของคุณ
สู่ใจกลางของพลังงาน ซึ่งแผ่ขยายผ่านจักระต่างๆ
ไปยังเกลียวแขนของกาแลคซี่
ทุกระดับของจิตวิญญาณ
ถูกสำแดงผ่านเกลียวพลวัตร
เหมือนกิ่งก้านแห่งวิวัฒนาการ
มีชีวิต สำรวจ
สมาธิ คือการตระหนักรู้ถึงความว่างเปล่า
ในทุกระดับของตัวตน
เปลือกชั้นต่างๆ ของจิตวิญญาณ
เกลียวพลวัตร คือการสืบต่ออย่างไร้จุดจบของทวิภาวะ
และ วัฏจักรของชีวิตและความตาย
ในขณะที่เราหลงลืม ถึงการเชื่อมต่อกับแหล่งกำเนิด
เลนส์ที่เรามองผ่านชีวิตเรานั้น มีขนาดเล็กมาก
และคิดว่าเราเป็นแค่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ
ที่คืบคลานไปบนโลก
จนกว่าเราจะบรรลุการเดินทาง
หวนคืนสู่แหล่งกำเนิด
สู่ ใจกลาง อันดำรงอยู่ ณ ทุกแห่งหน
จวงจื่อ กล่าวว่า
“เมื่อไร้การแบ่งแยก ระหว่าง สิ่งนี้ และ สิ่งนั้น
นั่นคือ ภาวะสงบนิ่งแห่งเต๋า
ณ จุดนิ่งแห่งใจกลางของเกลียวพลวัตร
เราจักเห็นความเป็นอนันต์ ในสรรพสิ่งทั้งหมดได้ “
ในมนตราโบราณ “โอม มณี ปัทเม ฮุม”
มีความหมายทางกวี
เมื่อผู้ตื่นรู้ ตระหนักรู้ถึงมณีภายในดอกบัว
ธรรมชาติแท้ของเธอได้ตื่นขึ้นในจิตวิญญาณ
ในโลกนี้ และเป็นอย่างที่โลกเป็น
จากปรัชญาเฮอร์เมติค ที่กล่าวว่า
“เบื้องล่าง เป็นเช่น เบื้องบน
เบื้องบน เป็นเช่น เบื้องล่าง”
เราอาจใช้อุปมาดังกล่าว เพื่อทำเข้าใจ
ความสัมพันธ์ระหว่าง จิต และ ความสงบนิ่ง
สัมพัทธภาพ และ ความจริงแท้
เพื่อทำเข้าใจนอกกรอบความคิดเกี่ยวกับ
การเข้าถึงธรรมชาติของสมาธิ
คือใช้การอุปมาของหลุมดำ
โดยทั่วไปแล้ว หลุมดำ แสดงถึงอาณาเขตของอวกาศ
ของสนามพลังแรงโน้มถ่วงที่มีพลังสูงมาก
จนแสงหรือวัตถุใดๆ ไม่อาจหลุดรอดไปได้
ทฤษฏีใหม่บนสมมุติฐานว่า
วัตถุทั้งหมด ตั้งแต่จุลอนุภาคที่เล็กที่สุด
ถึง การก่อตัวอย่างมหึมาของจักรวาล
ล้วนมีหลุมดำ
หรือ ภาวะเอกฐานอันลึกลับอยู่ ณ ใจกลาง
ในการอุปมานี้
เราจะให้นิยามใหม่ของหลุมดำ
เป็นศูนย์กลางที่ดำรงอยู่ ณ ทุกหนแห่ง
ในทางเซน
มีหลายบทกวีและปริศนาธรรม
ที่นำพาเราไปเผชิญหน้ากับ
ประตูที่ไร้ประตู
เราต้องผ่าน ประตูที่ไร้ประตูนี้
เพื่อเข้าถึงสมาธิ
ณ ขอบฟ้าเหตุการณ์ เป็นพื้นที่ของเวลาและอวกาศ
ที่ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่อาจส่งออกมา
ถึงผู้สังเกตการณ์ภายนอกได้
นั่นหมายความว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น
เหนือขอบฟ้าเหตุการณ์
จะเป็นสิ่งที่คุณไม่อาจรับรู้ได้
คุณอาจกล่าวได้ว่า
ขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ
คืออุปมาถึง ประตูที่ไร้ประตู
มันเป็นธรณีประตูระหว่าง
การมีตัวตน และ ไม่มีตัวตน
มันไม่มี “ตัวฉัน” ที่ผ่านเส้นขอบฟ้าเหตุการณ์ไปได้
ในใจกลางของหลุมดำ คือ มิติของภาวะเอกฐาน
ที่บรรจุไว้ด้วยมวลของดวงอาทิตย์นับพันล้านดวง
ในพื้นที่สุดแสนเล็กอันไม่อาจจินตนาการได้
ทว่า มีค่ามวลที่เป็นอนันต์
คือ เป็นทั้งเอกภพ
ที่บรรจุอยู่ในบางสิ่งที่เล็กกว่าเม็ดทราย
ภาวะเอกฐาน คือ บางสิ่งที่ล้ำลึกเหนือเวลาและพื้นที่
ซึ่ง ตามทฤษฎีทางฟิสิกส์แล้ว
การเคลื่อนไหวเป็นไปไม่ได้
การมีอยู่ของสรรพสิ่งก็เป็นไปไม่ได้
ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม
มันไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในโลกของการรับรู้
แต่กระนั้น ก็ไม่อาจบอกว่า มันเป็นความสงบนิ่งเงียบ
มันอยู่เหนือ ความสงบนิ่ง และ เคลื่อนไหว
เมื่อเธอตระหนักรู้ ณ ใจกลาง
ว่ามันคือ ทุกที่และไม่ใช่สักที่
ทวิภาวะก็สิ้นสุดลง
ทั้ง รูป และ ความว่าง
กาลเวลา และ ไร้กาลเวลา
บางคนอาจเรียกว่า เป็นเคลื่อนไหวที่สงบนิ่ง
หรือ ตถาคตครรภ์แห่งความว่าง
ณ ศูนย์กลางของที่สุดแห่งความมืดมิด
คุรุแห่งเต๋า ท่านเล่าจื๊อกล่าวไว้ว่า
“ความมืดในความมืดมิด
คือ ประตูสู่ความเข้าใจทั้งปวง “
นักเขียนและนักปรัชญาเปรียบเทียบ
โจเซฟ แคมป์เบล
ได้อธิบายถึงสัญลักษณ์ที่ปรากฏซ้ำๆ
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ปรัชญาอมตะ
เขาเรียกว่า the Axis Mundi
คือ จุดศูนย์กลาง หรือ ภูเขาที่สูงที่สุด
คือ แกนกลาง ที่สรรพสิ่งโคจรอยู่รอบ
ณ จุดที่ความสงบนิ่งและเคลื่อนไหวอยู่ร่วมกัน
ณ จุดศูนย์กลางนี้
ต้นไม้อันแข็งแกร่งและสมบูรณ์ได้ถูกตระหนักรู้
ดุจต้นศรีมหาโพธิ์ ที่เชื่อมต่อทุกๆ โลกทั้งหมด
เหมือนดวงอาทิตย์กำลังถูกกลืนหายไปในหลุมดำ
เมื่อคุณเข้าใกล้ความจริงที่ยิ่งใหญ่
ชีวิตคุณจะเริ่มโคจรรอบสิ่งนั้น
และตัวตนคุณ…จะเริ่มสลายไป
ในขณะที่คุณเคลื่อนเข้าใกล้จิตเดิมแท้
มันอาจน่ากลัว สำหรับตัวตนที่ถูกสร้างขึ้น
ผู้พิทักษ์ประตูอยู่ที่นั่น เพื่อทดสอบผู้ที่เดินทางมาถึง
จงพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งคุณกลัวที่สุด
ขณะเดียวกัน จงน้อมรับในพลังภายในตน
เพื่อส่องแสงไปยังความน่ากลัวของความไม่รู้
และ ความงามที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน
ถ้าความคิดของคุณหยุดเคลื่อนไหว
ไร้ซึ่งตัวตนผู้คอยตอบสนอง
ปรากฏการณ์ทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นจากจิตไร้สำนึก
จะเพียงปรากฏขึ้นและผ่านไป
นี่เป็นจุดสำคัญในการเดินทางจิตวิญญาณ
ที่ซึ่ง ศรัทธา เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด
ศรัทธาในที่นี้หมายถึงอะไร ?
ศรัทธา แตกต่างจาก ความเชื่อ
ความเชื่อ คือการยอมรับบางสิ่งในระดับของความคิด
เพื่อสร้างสบายใจและมั่นใจ
ความเชื่อเป็นวิธีทางความคิดเพื่อใช้แปะป้าย
หรือควบคุมประสบการณ์
ศรัทธาเป็นในทางตรงกันข้าม
ศรัทธา คือ การอยู่ในสภาวะที่แม้ไม่รู้อะไรเลย
แต่ยอมรับได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจากจิตไร้สำนึก
ศรัทธายอมศิโรราบ ต่อการแรงดึงดูดของเอกภาวะ
สู่การสลายของอัตตา หรือถอดถอนตัวตน
เพื่อผ่าน “ประตูที่ไร้ประตู”
วิวัฒนาการและโครงสร้างของกาแลคซี่
มีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหลุมดำ
เช่นเดียวกับ วิวัฒนาการของคุณที่เชื่อมโยงกับตัวตนดั้งเดิม
คือ เอกภาวะซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของคุณ
เราไม่สามารถเห็นหลุมดำ
แต่เราสามารถรู้เกี่ยวกับมันได้
โดยสังเกตสิ่งที่โคจรกอยู่รอบๆ มัน
ในปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริงทางกายภาพ
เหมือนกับที่เราไม่สามารถเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของเรา
จิตเดิมแท้ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ
แต่เราเห็นถึงสภาวะแห่งการรู้แจ้งได้
ดังอาจารย์เซน ซูซูกิ ได้กล่าวไว้
“แท้จริงแล้ว ไม่มีตัวตนผู้รู้แจ้ง
มีเพียงสภาวะแห่งการรู้แจ้งเท่านั้น”
เราไม่อาจมองเห็นม้นได้
เหมือนกับดวงตาที่ไม่อาจมองเห็นตัวมันเองได้
เราไม่สามารถมองเห็นได้
เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้การมองเห็นเป็นไปได้
เช่นเดียวกับหลุมดำ สมาธิ ไม่ใช่ความไม่มีอะไร
และก็ไม่ได้เป็นสิ่งใด
มันเป็นสิ้นสลายของทวิภาวะ
ทั้ง ความมี และ ความไม่มี
มันไม่มีประตูเพื่อผ่านเข้าสู่ความจริงที่ยิ่งใหญ่
แต่มีเส้นทางที่ไร้ที่สิ้นสุด
เส้นทาง ธรรมะ ที่เหมือนเกลียวพลวัตรที่ไร้จุดจบ
ที่ไม่มีทั้งจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด
ไม่มีผู้ใดสามารถผ่านประตูที่ไร้ประตู
ไม่มีความคิดของผู้ใดที่จะหาวิธีได้
และไม่มีทางเป็นไปได้
ไม่มีผู้ใดสามารถผ่านประตูที่ไร้ประตูได้
ดังนั้น จง ไม่ เป็น ผู้ใด
. . . อ นั ต ต า . . .
. . . ค ว า ม ว่ า ง . . .
. . . สุ ญ ญ ต า . . .
. . . ห นึ่ ง เ ดี ย ว กั น . . .
สมาธิ เป็นเส้นทางที่ไร้เส้นทาง
เป็นกุญแจสำคัญ
เป็นการสิ้นสุดการยึดมั่นในตัวตนที่สร้างขึ้น
ที่แบ่งแยกโลกภายในและโลกภายนอก
มีคำอธิบายหลายรูปเพื่อแสดงถึง
เปลือกหรือชั้นโครงสร้างของอัตตา
ยกตัวอย่างอันหนึ่งที่เก่าแก่มาก
ในคัมภีร์อุปนิษัท กล่าวถึงเปลือกที่ครอบอัตมัน
หรือจิตวิญญาณไว้ เรียกว่า โคชะ (koshas)
แต่ละโคชะเปรียบเหมือนกระจก
เป็นชั้นของโครงสร้างอัตตา
เหมือนผ้าคลุมมายาที่บดบังเราไว้
จากการตระหนักรู้ในธรรมชาติแท้ของเรา
เมื่อเราเผลอหลงยึดมั่นกับมัน
คนส่วนใหญ่เห็นเพียงภาพสะท้อน
และเชื่อว่านั่นคือใครที่เขาเป็น
กระจกหนึ่งสะท้อนถึงชั้นของสัตว์
คือ กายภาพทางร่างกาย
กระจกอีกอันสะท้อนถึง จิต ความคิด
สัญชาตญาณ และการรับรู้ของคุณ
อีกหนึ่ง คือ พลังงานภายในหรือปราณ
ซึ่งคุณรู้สึกได้ เมื่อหันกลับมารับรู้ภายใน
อีกกระจกนึง สะท้อนถึงระดับของปัญญา
เป็นจิตที่สูงขึ้น หรือระดับของปัญญาญาณ
และยังมีระดับที่ก้าวข้ามตัวตน หรือปิติสุขเหนือทวิภาวะ
ซึ่งสามารถสัมผัสได้เมื่อเข้าสู่สมาธิ
ยังมีกระจกอีกนับไม่ถ้วน หลายแง่มุมของตัวตน
ทำให้คนเราแตกต่าง และเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
คนส่วนใหญ่ยังไม่ค้นพบแม้ในชั้นพลังปราณ
ชั้นของจิตที่สูงกว่า และชั้นปิติสุขเหนือทวิภาวะ
พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มันมีอยู่จริง
ระดับชั้นเหล่านี้ก่อร่างเป็นชีวิตของคุณ
แต่คุณยังมองไม่เห็นมัน
ที่จริงแล้ว กระจกที่ซ่อนอยู่เหล่านี้
บ่งบอกชีวิตเราได้มากกว่าสิ่งที่ตามองเห็น
ที่มองไม่เห็น ก็เพราะคนส่วนใหญ่
ยังไม่สามารถมี “สติ-รู้สึกตัว” ได้เต็มที่
เฉกเช่น ตาข่ายแห่งพระอินทร์ (Indra’s net of Jewels)
กระจกทั้งหมดสะท้อนถึงกันและกัน
มีการสะท้อนและเห็นถึงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การเปลี่ยนแปลงในชั้นหนึ่ง
ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกชั้นพร้อมๆ กัน
กระจกบางชั้น อาจถูกทอดทิ้งในเงามืด
เว้นว่าเราจะโชคดีมีผู้ช่วยชี้แนะให้เรา
ได้พบแสงสว่างและมองเห็นมัน
ความจริง คือ เราไม่รู้ ว่า เราไม่รู้อะไร
เอาล่ะ ลองจินตนาการว่า
คุณได้ทุบกระจกทั้งหมดให้แตก
มันไม่เหลืออะไรมาสะท้อน ให้คุณเห็นตัวคุณอีกต่อไป
แล้วคุณล่ะ…อยู่ที่ไหน?
เมื่อจิตใจสงบ
กระจกยุติการสะท้อน
ไม่มี “ผู้เห็น” และ “สิ่งที่ถูกเห็น” อีกต่อไป
อย่าเข้าใจผิดว่า จิตต้นกำเนิดเป็นความว่างที่ไม่มีอะไรเลย
ตัวตนดั้งเดิม ไม่ได้เป็นบางสิ่งก็จริง
แต่ก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีอะไรเลย
แหล่งกำเนิด ไม่ใช่สิ่งใดๆ
มันคือความว่าง หรือ ความสงบนิ่ง
มันคือ ความว่างอันเป็นแหล่งกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง
สรรพสิ่ง ถูกตระหนักรู้ว่า
แท้จริงแล้วเป็น ความว่าง
ความว่าง ถูกตระหนักรู้ว่า
แท้จริงแล้วเป็นเป็น สรรพสิ่ง
จิตต้นกำเนิดนี้ คือ มหาสุญญตา
ตถาคตครรภ์ที่ให้กำเนิดทุกความเป็นไปได้
สมาธิ คือ การตื่นรู้ขึ้นของจิตที่ไร้ตัวตน
เหมือนในความฝัน
เมื่อตื่นขึ้นมา คุณย่อมตระหนักรู้ว่า
ทุกสิ่งในฝัน
เป็นเพียงความคิดของคุณเท่านั้น
ในสมาธิ เธอได้ตระหนักรู้ว่า
ทุกๆ สิ่งในโลกล้วนเกิดขึ้น
ในระดับของระดับพลังงานต่างๆ ในจิตรับรู้
ทั้งหมดล้วนเป็นกระจกในกระจก
เป็นความฝันในความฝัน
ตัวตน ที่คุณคิดมาตลอดว่า คุณเป็น
จึงเป็นทั้ง ความฝัน และ ผู้หลับฝัน
ทุกสิ่งที่เราพูดในภาพยนตร์นี้
ฟังแล้วก็ปล่อยมันไป
อย่าจับมันด้วยความคิด
จิตวิญญาณกำลังหลับฝัน
ความฝัน ที่ฝันถึง ความเป็นตัวคุณ
ในฝัน ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง
แต่มันเป็นไปได้ ที่จะตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ไร้การเปลี่ยนแปลง
การตระหนักรู้นี้ ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยความคิดอันจำกัด
เมื่อเรากลับจากสมาธิ Nirvikalpa
กระจกก็เริ่มสะท้อนให้เห็นอีกครั้ง
และตระหนักรู้แล้วว่า
โลกที่คุณคิดว่าคุณกำลังอาศัยอยู่
แท้จริงแล้วคือ “ตัวคุณ”
ไม่ใช่ตัวตนอันจำกัด ซึ่งเป็นแค่การสะท้อนกันชั่วคราว
แต่คุณตระหนักรู้ว่าธรรมชาติแท้ภายในคุณ
แหล่งกำเนิดของความเป็นทั้งหมด
นี้คือรุ่งอรุณแห่งปัญญา
เป็นตัวอ่อน
เป็นปัญญา “prajna” หรือ “gnosis”
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากสมาธิที่แท้
จากวารสารของโยบ
Chokhma หรือปัญญานั้น มาจากความว่าง
ปัญญาซึ่งทั้งขนาดเล็กอย่างอนันต์
แต่สามารถโอบอุ้มความเป็นทั้งหมดไว้
แต่เป็นสิ่งไม่อาจที่เข้าใจได้
จนกว่ารูปทรงและรูปลักษณ์จากพระราชวังแห่งกระจก
ที่เรียกว่า “ไบนะห์” (binah)
ครรภ์กำเนิดจากการแกะสลักโดยปัญญาชั้นสูง
เพื่อก่อเกิดเป็นรูปลักษณ์ของตัวอ่อน
ของจิตวิญญาณแห่งพระเจ้า
[เพลง] “Abwoon d’bashmaya” by Indiajiva
การมีอยู่ของกระจก
หรือการมีอยู่ของจิตนั้น ไม่ใช่ปัญหา
ตรงกันข้าม
จุดผิดพลาดในการรับรู้ของมนุษย์
คือเราไปยึดมั่นว่า ตัวเราคือสิ่งเหล่านั้น
ภาพลวงตาที่จำกัดตัวตนของเราไว้ คือ มายา
ในโยคะสูตร กล่าวไว้ว่า
การเข้าถึงสมาธิ จะต้องเฝ้าดู “สิ่งที่ถูกรู้”
จนกว่า “สิ่งที่ถูกรู้” หายไป
จนกว่าคุณได้หายไปในมัน
หรือ มันได้หายไปในคุณ
แม้ภาษาในปรัชญาความเชื่อต่าง ๆ นั้นแตกต่างกัน
ที่สุดแล้ว ทั้งหมดล้วนชี้ไปยังจุดจบของการยึดมั่นในตัวตน
และการยึดตัวตนเป็นศูนย์กลาง
พระพุทธเจ้าทรงสอนผ่านวิธีการตัดทอน
ทรงสอนให้พิจารณาตรงไปที่การทำงานของตัวตน
ท่านไม่ได้บอกว่าสมาธิคืออะไร
นอกจากว่ามันเป็นการดับทุกข์
ในสายเวทานตะ
มีคำว่า “Neti Neti”
หมายถึง “ไม่ใช่สิ่งนี้ และไม่ใช่สิ่งนั้น”
ผู้คนที่อยู่บนทางแห่งการตระหนักรู้ตนเอง
ได้สำรวจถึงธรรมชาติแท้จริงในตน
หรือ ธรรมชาติของพรหมมัน
ผ่านการค้นพบแรกสุด ก็คือ สิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็น
เช่นกันในศาสนาคริสต์
เซนต์เทเรซาแห่งอวิลา ได้อธิบายการภาวนา
โดยการตัดหรือละออก หรือ (via negativa)
การภาวนาในความเงียบ
ศิโรราบ และ หลอมรวม
อันเป็นหนทางเดียวที่จะเข้าถึงสัจจะแท้
เมื่อผ่านกระบวนการค่อยๆ สละวาง
ทิ้งทุกๆ สิ่งที่ไม่แน่นอน
ทิ้งทุกๆ สิ่งที่เปลี่ยนแปลง
จิตใจ
อัตตาที่สร้างขึ้น
และปรากฏการณ์ทั้งหมด
รวมทั้งเปลือกของตัวตนที่ซ่อนอยู่
จิตไร้สำนึก จำต้องกลายเป็นโปร่งใส
เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงแหล่งกำเนิดที่เป็นหนึ่งเดียว
หากในส่วนลึก ยังมีการทำงานของตัวตนที่ยังไม่ถูกรับรู้
ชีวิตเราก็ยังถูกกักขังในเขาวงกต
ที่เกิดมาจากตัวตนที่ยังไม่ถูกค้นพบ
เมื่อทุกเปลือกชั้นของตัวตน ถูกเผยให้เห็นเป็นความว่าง
เขาผู้นั้นจะเป็นอิสระจากตัวตน
อิสระจากความคิดทั้งหมด
จุดเปลี่ยนสำคัญทางจิตวิญญาณของคุณ
เกิดขึ้นเมื่อคุณตระหนักรู้ว่า
“คุณไม่รู้ว่าคุณคือใคร ?”
ใคร…ที่กำลังรู้การหายใจ
ใคร…ที่กำลังรู้รส
ใคร…ที่กำลังสวดมนต์
ประกอบพิธีกรรม
เต้นรำ
ร้บรู้ภูเขา
” เห็น … ผู้เห็น “
” รู้ … ผู้รู้ “
ครั้งแรกเมื่อ คุณ “เห็น-ผู้เห็น”
คุณจะเห็นเพียงตัวตนปลอมที่ถูกสร้างขึ้น
แต่เมื่อคุณหมั่นเห็นบ่อยๆ มันจะกลายเป็นเส้นทาง
จงสำรวจโดยตรงว่า ใคร หรือ สิ่งใด…เป็นผู้รู้
ไม่กระพริบตา
แน่วแน่
และทะลุทะลวง
ด้วยพลังทั้งหมดของการดำรงอยู่ของคุณ
คเต คเต ” จงไป จงไป “
ปาระ คเต ” จงไปเถิด “
ปาราสัง คเต ” จงไปให้ถึง “
โพธิ สวาหา ” อันฝั่งฝาก แห่ง การตื่นรู้ นั้น…เทอญ ” “
มันไม่มี ตัวตน..ที่ตื่นรู้
มันไม่มี ตัวคุณ…ที่ตื่นรู้
มันคือการตื่นจากภาพมายา ของตัวตนอันแบ่งแยก
ตื่นจากความฝันที่จำกัดคุณไว้
ซึ่งหากพูดไปก็ไร้ความหมาย
เราต้องละวางตัวตน
เพื่อการตระหนักรู้ ตรงสู่ความจริงที่เป็น
เมื่อตระหนักรู้แล้ว ก็ไม่มีอะไรให้พูดให้กล่าวถึง
เพราะทันทีที่คุณพูด
คุณก็กลับมาใช้ความคิด
กระทั่งผมเอง ก็ได้กล่าวมากไปเสียแล้ว
ปกติแล้ว มีจิตสำนึกรู้ 3 ระดับ
ตื่น
ฝัน
และ หลับลึก
บางครั้ง สมาธิ ถูกจัดเป็นระดับที่ 4
เป็นฐานแห่งจิตรับรู้
คือจิตตื่นรู้ดั้งเดิม
ที่สามารถเป็นจิตรู้ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
ควบคู่ไปกับจิตสำนึกในระดับอื่นๆ
ในสายเวทานตะ เรียกสิ่งนี้ว่า Turiya
นิยามอื่นของ Turiya
คือ จิตแห่งพระคริสต์
จิตแห่งพระกฤษณะ
ธรรมชาติแห่งพุทธะ หรือ สหจะสมาธิ
ใน สหจะสมาธิ จิตดั่งเดิมสามารดำรงอยู่ในปัจจุบัน
พร้อมไปกับการทำงานตามปกติของมนุษย์
คือ ความสงบอันไม่เคลื่อนไหว
ณ ใจกลางของพลวัตรแห่งการเปลี่ยนแปลง
ความคิด ความรู้สึก
การรับรู้ และ พลังงาน
ปรากฏหมุนเวียน และโคจรอยู่รอบ
แต่ระดับของความสงบนิ่ง หรือ ความเป็นฉัน (I-am-ness)
ดำรงอยู่ท่ามกลางทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น
เหมือนเช่นในการปฏิบัติสมาธิภาวนา
มันเป็นไปได้ที่ ตัวตนเดิมแท้นั้นยังดำรงอยู่ แม้ในภาวะหลับลึก
ในขณะที่นอนหลับลึก การตระหนักรู้ในความ “เป็น” (I am)
ไม่มีการมา ไม่มีการไป
แม้ในการเปลี่ยนระดับของจิตรับรู้
นี่คือ การนอนหลับของโยคี
ในบทเพลงแห่งเพลง หรือบทเพลงแห่งโซโลมอน
จากคัมภีร์ฮีบรู ฉบับพันธะสัญญาเดิมกล่าวว่า
“ข้านอนหลับ แต่ใจข้าตื่นอยู่”
การตระหนักรู้ เข้าถึงจิตที่ไร้ตัวตนนี้
ถูกสะท้อนในถ้อยคำของพระคริสต์เมื่อตรัสว่า
“แม้ก่อนอับราฮัมเกิด
…เราดำรงอยู่”
จิตหนึ่งนี้เอง ที่ได้ส่องแสงผ่านใบหน้ามากมาย
ผ่านรูปลักษณ์นับไม่ถ้วน
ตอนแรก มันคล้ายเปลวไฟบางเบา
ที่ผุดจากกระแสสัมผัสในตัวคุณ
จิตสำนึกบุรุษ เข้าสู่การตระหนักรู้อย่างศิโรราบ
และเปิดรับต่อพลังงานสตรี
มันทั้งบอบบางและหายไปโดยง่าย
ผู้นั้นจึงต้องใส่ใจอย่างยิ่งในการปกป้อง
และรักษาไว้จนกว่ามันจะเติบโหญ่
สมาธิ เป็นทั้งสภาวะนิรันดร์ของจิตรู้
และสภาวะแห่งลำดับของการพัฒนา
เป็นบางสิ่งที่เป็นธรรมชาติ และเติบโตผ่านเวลา
เมื่อเราเจริญในสมาธิมากขึ้นๆ
ในปัจจุบันขณะ อย่างไร้กาลเวลา
ผู้นั้นจะเข้าถึงเส้นทางที่ตรงไปยัง ใจ
จิตวิญญาณ หรือ อัตมัน
และ ตัวตนที่สร้างขึ้นเบาบางลง
นี่คือวิธีที่เราจะเป็นอิสระจากจิตที่หลง
อิสระจากกับดักของความคิด
กระแสภายในจะเปลี่ยนไป
พลังงานจะไม่ไหลไปสู่ตัวตนเก่าที่จิตสร้างขึ้น
กล่าวคือ เขาจะไม่หลงไปยึดในตัวตนที่จิตสร้างขึ้น
ผ่านโลกภายนอก…อีกต่อไป
เพื่อตระหนักรู้ถึงสมาธิ ต้องอาศัยความพยายามอย่างยิ่งยวด
ในการศิโรราบอย่างสิ้นเชิงต่อจิตหนึ่ง
และศิโรราบอย่างยินยอม
พร้อมด้วยความเพียร
และพลังงานทั้งหมดของเขา
เป็นสมดุลของความพยายามและศิโรราบ
หยินและหยาง
เป็นความเพียรที่ปราศจากความพยายาม
รหัสยิกโยคีชาวอินเดีย
ปรามาหังสา รามากฤษณะ กล่าวไว้ว่า
“อย่าได้แสวงหาการรู้แจ้ง
จนกว่าเธอจะรู้สึกเหมือนมีไฟไหม้อยู่บนหัว
จนต้องรีบหาบ่อน้ำ”
คุณแสวงหาด้วยความเป็นทั้งหมดของคุณ
ในระหว่างการปฏิบัติเพื่อก้าวข้ามอัตตา
ต้องอาศัยความกล้าหาญ ความใส่ใจ และความอดทน
ดุจรักษาตัวอ่อนให้มีชีวิต
เพื่อไม่กลับตกไปสู่กับดับของโลก
มันต้องการความมุ่งมั่นที่จะสวนกระแส
ทนต่อการถูกกระทบในโครงสร้างสังคม
และกงล้อที่คอยบดขยี้ในสังสารวัฏ
ทุกลมหายใจ ทุกความคิด ทุกการกระทำ
หมั่นระลึกรู้ถึงแหล่งกำเนิด
สมาธิไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยความเพียรและไร้ความเพียร
จงละวางทั้งความพยายามและไม่พยายาม
มันคือทวิภาวะที่ปรากฏอยู่ในจิตคิด
การตระหนักรู้สมาธิที่แท้นั้นเรียบง่าย
และไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด
เหมือนดั่งที่ถูกเข้าใจผิดผ่านภาษาซึ่งเป็นทวิภาวะ
มีเพียงจิตต้นกำเนิดนี้เท่านั้น ที่ตื่นรู้อยู่ในโลก
แต่ถูกบดบังไว้ด้วยเปลือกชั้นของจิตใจ
เหมือนดวงอาทิตย์ถูกบดบังหลังก้อนเมฆ
เมื่อแต่ละเปลือกชั้นของจิตคิดหลุดหายไป
ตัวตนที่แท้จริงก็ถูกเปิดเผย
เปลือกชั้นของจิตคิดหายไป
ผู้คนเรียกสมาธินั้นแตกต่างกันไป
เรียกของประสบการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ กันไป
แต่สมาธิแท้จริงช่างเรียบง่าย
พอมีคนบอกว่ามันคืออะไร เข้าถึงได้อย่างไร
ความคิดของคุณ ก็พาคุณพลาดไปเสมอ
ที่จริงแล้ว สมาธิไม่ใช่ทั้งง่ายหรือยาก
ความคิดเท่านั้นที่ปรุงแต่งให้มันเป็น
เมื่อไม่มีความคิด ก็ไม่มีปัญหา
เพราะความคิดคือสิ่งที่ต้องยุติ ก่อนการตระหนักรู้
มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกทำให้เกิดขึ้น
คำสอนที่ลัดสั้นของสมาธิ
อาจพบได้ในวลีนี้
” จงสงบ และ รู้ “
เราจะใช้คำและภาพเพื่อสื่อความสงบนิ่งได้อย่างไร?
เราจะถ่ายทอดความเงียบโดยใช้เสียงได้หรือ ?
แทนที่จะพูดถึงสมาธิให้เป็นหลักการแนวคิด
ภาพยนตร์นี้คือเสียงเรียกแห่งการ “ไม่กระทำ”
เสียงเรียกแห่งการภาวนา
ความเงียบภายใน
การภาวนาภายใน
เสียงเรียกเพื่อ
“หยุด”
หยุดทุกสิ่งที่ถูกขับเคลื่อนโดยความคิดของอัตตา
” จงสงบ และ รู้ “
ไม่มีใครบอกได้ว่า สิ่งใดจะปรากฏขึ้นจากความสงบนิ่ง
นี่คือเสียงเรียกสู่กระทำ จากหัวใจของจิตวิญญาณ
มันเหมือนการหวนรำลึกถึงบางสิ่งที่เก่าแก่
จิตวิญญาณตื่นขึ้นและจดจำตัวมันเองได้
มันได้ผ่านการเป็นนักเดินทางผู้หลับใหล
แต่ขณะนี้ ความว่างได้ตื่นขึ้นแล้ว
และได้ตระหนักรู้ตนเองว่าเป็นทุกสิ่งทั้งหมด
คุณไม่อาจจินตนาการถึงสมาธิได้
ด้วยความคิดอันจำกัดของอัตตา
เช่นเดียวกับที่คุณไม่อาจอธิบายให้คนตาบอดเข้าใจถึงสี
ความคิดของคุณไม่อาจรู้ ความคิดไม่อาจสร้างมันขึ้น
การตระหนักรู้ในสมาธิคือการเห็นที่แตกต่าง
มันไม่ใช่การเห็น “สิ่งที่ถูกเห็น”
แต่เป็นการตระหนักรู้ “ผู้เห็น”
นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี กล่าวไว้ว่า
” สิ่งที่เธอกำลังมองหา คือ สิ่งที่กำลังมองอยู่ “
เมื่อคุณได้เห็นดวงจันทร์
คุณย่อมจำมันได้ในทุกการสะท้อน
ตัวตนที่แท้จริง อยู่ตรงนั้นเสมอมา
มันอยู่ในทุกๆ สิ่ง
แค่คุณยังไม่ได้ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของมัน
เมื่อคุณตระหนักรู้ และดำเนินชีวิต
ด้วยจิตเดิมแท้ที่อยู่เหนือความคิดและความรู้สึก
คุณจะเริ่มสัมผัสความอัศจรรย์
ในแทบทุกปรากฏการณ์ของชีวิต
เรากลายเป็นความอัศจรรย์
ไม่ต้องพยายามเป็นอิสระจากความอยาก
เพราะความพยายามเป็นอิสระ ก็เป็นความอยาก
คุณไม่อาจพยายามสงบนิ่ง
เพราะทุกความพยายาม ก็คือการเคลื่อนไหว
เพียงตระหนักรู้ถึงความสงบ อันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว
” จงสงบ และ รู้ “
เมื่อการให้ค่าทั้งหมดยุติ จิตเดิมแท้ก็เผยตัวออกมา
แต่ก็ไม่ควรยึดมั่นแม้จิตเดิมแท้
ความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่
เต๋านั้น
ไม่ใช่หนึ่ง
ไม่ใช่สอง
ท่านรามานามหาฤษี กล่าวไว้ว่า
“จิตเดิมแท้มีเพียงหนึ่ง
หากมันจำกัด
มันคืออัตตา
หากมันไร้จำกัด
มันคือ อนันตะ และความจริงอันยิ่งใหญ่”
หากคุณเชื่อในสิ่งที่ถูกกล่าวไว้ คุณก็ยังพลาดอยู่
หากคุณไม่เชื่อ คุณก็พลาดมันไปเช่นกัน
การเชื่อและไม่เชื่อนั้น ทำงานในระดับของจิตคิด
มันต้องการการรู้
หากคุณเข้าสู่การสำรวจด้วยตนเอง
พิจารณาในแง่มุมทั้งหมดของความเป็นคุณ
ค้นหาว่า “ใคร” เป็นผู้สำรวจค้นหา
ถ้าคุณพร้อมใช้ชีวิตบนหลักการที่ว่า
“ไม่ใช่ความอยากของฉัน แต่เป็นความสำเร็จจากเบื้องบน”
หากคุณยินดีที่เดินทางผ่านเหนือความรู้ทั้งมวลแล้ว
คุณก็อาจตระหนักรู้ได้ ถึงสิ่งที่ผมพยายามชี้ทางให้
เมื่อนั้น คุณจะสามารถลิ้มรสด้วยตัวคุณเอง
ถึงความมหัศจรรย์ และความงามของการดำรงอยู่ที่เรียบง่าย
ยังมีอีกหนึ่งหนทางในชีวิตที่เป็นไปได้
มีบางสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ล้ำลึก
ที่ค้นพบได้ในความสงบส่วนลึกแห่งการดำรงอยู่ของคุณ
อยู่เหนือความคิด เหนือความเชื่อ
เหนือกฎเกณฑ์เงื่อนไข และการให้ค่าต่างๆ ทั้งหมด
มันไม่ต้องการเทคนิค พิธีกรรม
หรือการปฏิบัติใดๆ
ไม่มีวิธีการใดเพื่อที่จะได้รับ
ไม่มีระบบใด
ไม่มีหนทางเพื่อไปสู่หนทาง
ดั่งคำสอนของเซน
มันคือการค้นพบใบหน้าเดิมแท้ ก่อนที่คุณเกิด
มันไม่ใช่การเพิ่มสิ่งใดในตัวคุณ
มันคือการเป็นแสงสว่างแก่ตัวเธอเอง
แสงที่ส่องขจัดภาพลวงของอัตตา
หาไม่แล้ว ชีวิตก็ยังคงรอการเต็มเติม
ใจ ก็ยังปราศจากการผ่อนพัก
จนกว่า การเข้าถึงการหยุดพัก
ในความมหัศจรรย์ที่อยู่เหนือนามและรูปทั้งปวง
แปลไทยโดย
โครงการขับเคลื่อนสังคมแห่งการตื่นรู้สู่หนึ่งเดียวกัน